วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Postcard from Alaska: Inside Passage คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล

สุภาษิตไทยโบราณที่กล่าวไว้ว่า คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล ใช้เตือนใจนักเดินเรือว่าทะเลมีภยันตรายใหญ่หลวงจึงไม่ควรประมาท แต่วลีนี้เหมาะสมที่จะยืมมาใช้บรรยายทัศนียภาพการล่องเรือสู่อลาสก้าวันที่สองได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่ว่าเส้นทางอันตรายผาดโผนแต่อย่างใด แต่ไม่ว่าจะเหลียวมองไปทางไหนซ้ายขวาหน้าหลังก็เห็นแต่ทะเลอย่างเดียว


วันที่สองบนเรือสำราญรัศมีแสงแห่งทะเล (Radiance of the Sea) ที่กำลังบ่ายหน้าสู่อะลาสก้า ตามกำหนดการวันนี้เรือไม่หยุดแวะจอดที่ไหน โดยจะแล่นผ่านเส้นทางที่เรียกว่า Inside Passage ซึ่งเป็นเส้นทางลัดเลาะชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของทวีปอเมริกา เสันทาง Inside Passage เริ่มต้นจากมลรัฐ Washington ประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านจังหวัด British Columbia ของแคนาดา (เมืองแวนคูเว่อร์อยู่ที่นี่) ยาวไปจนถึงมลรัฐอะลาสก้า ถึงแม้จะใช้คำว่าลัดเลาะ ในความเป็นจริงแล้วเรือวิ่งห่างจากชายฝั่งมากจนมองไม่เห็นขอบฝั่งแต่อย่างใด


แต่ไม่ต้องเป็นห่วงว่าการใช้ชีวิตบนเรือกลางทะเลทั้งวันจะน่าเบื่อหน่าย ผมอยากมอบรางวัลให้กับคนที่ตั้งชื่อภาษาไทยให้แก่เรือโดยสารประเภทนี้ว่า เรือสำราญเพราะเป็นชื่อที่นิยามคุณสมบัติของเรือได้เป็นอย่างดี เรียกว่าเรือพร้อมจะปรนเปรอความสำราญหลากหลายรูปแบบให้คุณเต็มที่

เริ่มจากอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์มีให้ทานได้ตลอดเวลาตั้งแต่หกโมงเช้าถึงตีหนึ่ง อย่างแย่ที่สุดก็มีขนมปังฮอทดอกให้รองท้อง

ถ้าคุณเป็นพวกชอบการออกกำลังกาย บนเรือจะมีสนามบาสเก็ตบอลขนาดย่อมที่สามารถปรับเป็นสนามบอลรูหนูได้ด้วย


สระว่ายน้ำทั้งของเด็กของผู้ใหญ่


สนามซ้อมพัทกอล์ฟ


หน้าผาจำลองสำหรับผู้ชอบความท้าทาย


แต่ถ้าคุณไม่อยากตากแดดตากลม(หนาว) เรือก็มีห้องฟิตเนสในร่มไว้ให้ออกกำลังกายเคล้าด้วยวิวงามๆ


แต่ถ้าคุณพิศมัยความสนุกแบบไม่เสียเหงื่อ ก็อาจเลือกไปห้องเกมส์เพื่อเล่นไพ่ โดมิโน หมากรุก ฯลฯ


แถมยังมีห้องตู้เกมส์ (ต้องเสียตังค์เล่น) แต่ทุกวันที่ผมแวะไปไม่เคยเจอใครเข้าไปเล่นเลย


ถ้าใครชอบความสนุกบนความเสี่ยง เรือก็มีคาสิโนไว้ให้ผู้ต้องการทดสอบโชคตัวเอง


บรรดาหนอนหนังสือสามารถไปหมกตัวที่ห้องสมุดได้ทั้งวัน


มีร้านค้าให้ช็อปอะฮอลิกจับจ่ายให้พอหายคันไม้คันมือ


โรงหนังขนาดย่อมๆฉายหนังที่เพิ่งออกโรงมาไม่เกินหกเดือน


มีโรงละครที่ทุกๆคืนก่อนหรือหลังอาหารเย็นจะมีรายการแสดงโชว์ดัง แต่ทุกวันจะเป็นโชว์ประเภทเดี่ยวไมโครโฟนหรือไม่ก็เกมส์โชว์อเมริกา ผู้ไม่สันทัดมุกขำขันอเมริกันอย่างผมเลยขอผ่าน


ผู้ต้องการความสุนทรีย์สามารถไปนั่งชิลล์ที่เปียโนเล้าจ์ได้


ตลอดทุกวันบนเรือจะมีตารางคลาสกิจกรรมให้ผู้โดยสารสามารถเข้าเรียนรู้ได้ เช่น สาธิตการใช้มีดอะลาสก้าแล่ปลาดิบ สอนพับผ้าขนหนูเป็นรูปสัตว์ สอนเต้นลีลาศ ฯลฯ

สำหรับโปรแกรมชีวิตที่ผมวางไว้ ช่วงเช้าผมเลือกไปเข้าฟังการบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับอะลาสก้าสองเรื่อง หัวข้อแรกเป็นเรื่องแนะนำของฝากจากอะลาสก้าที่ควรซื้อ ซึ่งจะให้ข้อมูลว่าในแต่ละเมืองที่จะแวะในวันต่อๆไปมีร้านค้าอะไรสินค้าอะไรที่น่าแวะไปเพื่อบรรเทาเงินในกระเป๋า ผู้บรรยายสาวมีวาทะศิลป์ที่ดีมาก พูดจนขนาดทำให้ผมชักอยากลองซื้อเพชรอะลาสก้าเป็นของฝากเลยทีเดียว


อีกช่วงหนึ่งเป็นการบรรยายโดยคู่สามีภรรยาผู้คร่ำหวอดกับการท่องเที่ยวอะลาสก้า มาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้นักเดินทางมือใหม่ทราบว่าในแต่ละเมืองมีกิจกรรมอะไรที่น่าสนใจ สถานที่ไหนที่ควรไป

พอช่วงบ่ายหลังอาหารกลางวัน ผมตัดสินใจไปเพิ่มความตื่นเต้นให้ชีวิตนิดนึงกับเกมส์บิงโก ผู้เข้าร่วมวัดดวงจะต้องเสียตังค์ซื้อการ์ดบิงโก ซึ่งมีหลายระดับราคา ยิ่งแพงก็จะยิ่งได้การ์ดหลายใบต่อเกมส์โอกาสที่จะได้บิงโกก็สูงขึ้น ผมขอเลือกเป็นพวกลงทุนน้อย(แต่มักสูง) แน่นอนทีสุดเทพีแห่งโชคย่อมไม่เข้าข้างพวกขี้เหนียว (ไม่ได้แม้แต่ลุ้น)


ส่งท้ายการเดินทางวันที่สองด้วยภาพบรรยากาศพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าสุดปลายทะเลที่ Inside Passage





  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

About