วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สี่เทศกาลฤดูร้อนแห่งโทโฮะคุ: Sendai Tanabata Matsuri


เผลอแป๊บเดียวก็ร่ายยาวมาถึงเทศกาลฤดูร้อนแห่งโทโฮะคุงานสุดท้ายแล้ว เราจะมาส่งท้ายกันที่เทศกาลทานาบะตะแห่งเมืองเซนได (仙台七夕)


เทศกาลทานาบะตะอ้างอิงตำนานคู่รักดวงดาวเรื่องดาวหญิงทอผ้ากับดาวเด็กเลี้ยงวัวที่ถูกแยกจากกันโดยมีทางช้างเผือกขวางกั้น ว่ากันว่าดาวทั้งสองจะมีโอกาสโคจรมาพบกันเพียงปีละหนึ่งหนเท่านั้น ซึ่งจะตรงกับวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดตามปฏิทินจันทรคติ ได้ยินเรื่องราวแล้วผมอยากตั้งชื่อไทยให้ว่าเทศกาลโรแมนติกแห่งดวงดาวเสียจริงๆ

คนญี่ปุ่นจะเรียกดาวหญิงทอผ้า (หรือ Vega ตามชื่อทางดาราศาสตร์) ว่าเจ้าหญิง Orihime (織姫) ในขณะที่เรียกดาวเด็กเลี้ยงวัว (หรือ Altair) ว่า Hikoboshi (彦星)

ในความเป็นจริงไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นสุดแสนหวานแหววขนาดหาเรื่องฉลองกันตามตำนานปรัมปราอะไรหรอก วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของเทศกาลก็คือเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะบูชาเทพเจ้าขอให้มีหน้าเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ในฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะมาถึง

เทศกาลทานาบะตะไม่ได้เป็นแค่เทศกาลเฉลิมฉลองของชาวเมืองเซนไดเท่านั้น จริงๆแล้วเป็นเทศกาลทั่วทั้งประเทศ แต่ถ้าคุณไปถามคนญี่ปุ่นว่าเทศกาลทานาบะตะที่ไหนดังที่สุด จะต้องมีงานเทศกาลทานาบะตะเมืองเซนไดติดโผแน่นอน

เมืองเซนไดจะจัดฉลองเทศกาลทานาบะตะวันที่ 6-8 สิงหาคมเป็นประจำทุกปี (บางเมืองจะฉลองเทศกาลทานาบะตะในเดือนกรกฎาคม) แตกต่างจากเทศกาลอีกสามเทศกาลที่เคยกล่าวไปก่อนแล้ว การเฉลิมฉลองเทศกาลทานาบะตะไม่ใช่การเต้นการโชว์การพาเหรดใดๆ


หัวใจของงานเทศกาลก็คือการประดับประดาตกแต่ง ร้านรวงย่านถนนช็อปปิ้งจะตกแต่งแขวนลูกบอลประดับตามแกนไม้ไผ่มีพู่ห้อยระย้าข้างใต้ลูก (ดูรวมๆรูปร่างคล้ายปลาหมึก)




ซึ่งเจ้าพู่ห้อยระย้าเปรียบเหมือนเส้นด้ายที่เจ้าหญิง Orihime ใช้ทอผ้า



บางทีก็มีเขียนขอพรแปะหรือห้อยไว้ที่พู่ระย้า



นอกจากลูกบอลและพู่ระย้าแล้วยังนิยมประดับประดาด้วยงานกระดาษอีกหกอย่างได้แก่
แผ่นกระดาษ (เพื่ออธิษฐานให้เรียนเก่งเขียนหนังสือสวย)


ชุดกิโมโน (ให้เก่งงานเย็บปักถักทอ ยังหมายถึงให้สุขภาพแข็งแรงปลอดจากอุบัติเหตุ)
กระเป๋าสตางค์ (ให้ธุรกิจเจริญรุ่งเรือง)
นกกระเรียนพับ (ให้ครอบครัวสงบสุขอายุมั่นขวัญยืน)
แห (ให้ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์)
ถุงขยะ (ให้สะอาดและประหยัดไม่สิ้นเปลือง)


หนึ่งในถนนที่มีการตกแต่งประดับประดาแบบจัดเต็มได้แก่ถนนช็อปปิ้ง Chuo Shopping Arcade (ใกล้ๆสถานีรถไฟ JR Sendai) ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่มีหลังคาคลุมจึงไม่ต้องกังวลเรื่องฝนตก ในช่วงวันเทศกาลคนจะแน่นแออัดยัดเยียดมากเหมือนเราไปเดินสำเพ็งช่วงตรุษจีน



คนญี่ปุ่นนิยมแต่งชุดกิโมโนออกมาเดินข้างนอกในวันเทศกาลสำคัญๆ


แต่ละร้านจะออกแบบตกแต่งประดับประดาตามสไตล์ของตนเอง



ไม่เว้นแม้แต่ร้านแบรนด์ฝรั่งชื่อดัง




ไอ-ทานาบาตะผลิตภัณฑ์ใหม่ของแอ๊ปเปิ้ลโดยสตีฟ จ๊อบส์ (สังเกตุลูกบอลประดับทำเป็นทรงแอ๊ปเปิ้ลแหว่ง)


บางร้านจะมีรูที่พื้นหน้าร้านให้เสียบลำไผ่แนวตั้ง


อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นมิสทานาบาตะรึเปล่า ถ้าใช่ดูแล้วคงไม่ได้คัดกันที่หน้าตาอย่างเดียว


ส่งท้ายด้วยภาพการประดับตกแต่งในเทศกาลทานาบะตะหลากหลายสไตล์










เว็บไซด์ข้อมูลเทศกาลเป็นภาษาอังกฤษ








วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สี่เทศกาลฤดูร้อนแห่งโทโฮะคุ: Yamagata Hanagasa Matsuri


เมื่อก่อนหน้านี้ไม่นาน มีเทศกาลที่ได้รับการจัดอยู่ในทำเนียบเทศกาลฤดูร้อนที่ยิ่งใหญ่แห่งโทโฮะคุเพียงสามเทศกาลเท่านั้น แต่ต่อมาภายหลังมีการเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งเทศกาล ทำให้จากไตรเทศ(กาล)กลายมาเป็นจตุรเทศ(กาล)อย่างทุกวันนี้

เกริ่นมาเพื่อเข้าสู่คิวของเทศกาลน้องใหม่ที่เพิ่งถูกบรรจุเข้าไปในเทศกาลฤดูร้อนยิ่งใหญ่โทโฮะคุรายหลังสุด ชื่อว่า Yamagata Hanagasa Matsuri (花笠祭り) จัดขึ้นที่เมืองยามางะตะ (山形) ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคมเป็นประจำทุกปี


ผมตั้งชื่อภาษาไทยให้เทศกาลนี้ว่าเทศกาลระบำควงหมวกพฤกษา เนื่องจากตัวเอกของงานก็คือหมวกประดับดอกไม้ที่เรียกว่า Hanagasa ในงานผู้เต้นรำจะต้องโชว์การร่ายรำคู่กับเจ้าหมวกนี้




เมื่อมาถึงสถานีรถไฟยามางะตะ ด้านนอกก็มีสาธิตการเต้นระบำควงหมวกให้ดูเป็นออเดิร์ฟ



ความครึกครื้นของงานก็อยู่ที่ขบวนพาเหรดประชันการเต้นควงหมวก ที่มีทีมเข้าร่วมมากกว่า 100 ทีม ประกอบไปด้วยแดนเซ่อร์รวมกว่า 10,000 คน งานจะมีขึ้นที่ถนนช็อปปิ้งจากแยก Toka-machi ไปจนถึงหน้า Bunshokan Hall เริ่มเวลาหกโมงเย็น ถนนที่จัดงานเดินจากสถานีรถไฟยามางะตะไปประมาณ 10-15 นาที


ช่วงเริ่มงานมีฝนตกปรอยๆ แต่เมื่อถึงเวลาแดนเซ่อร์ทุกคนก็ประจำที่ไม่มีถอย


หมวกไม่ได้ทำจากกระดาษจึงไม่ต้องเอาพลาสติกคลุม แต่เห็นแล้วอดสงสารคนเต้นที่ต้องตากฝนไม่ไหว บางคนอายุอานามก็ไม่ใช่น้อย


การประกวดเต้นไม่มีจำกัดอายุ มาได้ทั้งเด็ก สตรีและคนชรา


ยกขบวนมากันเป็นทีมๆ





ทีมนี้เป็นทีมเด็กพิเศษ


มีทั้งมากันแบบเกิร์ลกรุ๊ป


หรือจะบอยแบนด์


บางทีมจะมีรถสปอนเซ่อร์นำหน้า บางคนโชคดีได้เต้นบนรถสปอนเซ่อร์ไม่ต้องเปียกฝน



ช่วงที่เต้นไปแดนเซ่อร์ก็จะตะโกนร้องว่า 'Yassho! Makkasho!' ตามจังหวะเพลง


การเต้นระบำควงหมวกในอดีตจะต้องยึดรูปแบบท่ามาตรฐานที่มีมาแต่โบราณ


แต่เนื่องจากผู้จัดต้องการให้เทศกาลเข้ากับยุคสมัย ปัจจุบันจึงอนุญาตให้ประยุกต์ท่าเต้นได้ตามสบาย จึงไม่แปลกที่จะเห็นทีมที่เต้นควงหมวกในสไตล์ป็อบแดนซ์ เคป็อบ หรือบี-บอย


บางทีมส่งเข้าประกวดโดยโรงเรียนสอนแดนซ์


ทีมฟุตบอลประจำเมืองก็มาร่วมงาน


หน้าที่ตีกลองให้จังหวะนี่ไม่มีการกีดกันทางเพศ ไม่ว่าชายฉกรรจ์ หญิงฉกรรจ์หรือไม่ฉกรรจ์ก็รับภาระนี้ได้


ส่งท้ายด้วยภาพสาวงามประจำงานเทศกาล




เว็บไซด์ข้อมูลภาษาอังกฤษ













About