วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รำลึกกำแพงเบอร์ลิน


ถ้าท่านเคยได้ยินชื่อกำแพงเบอร์ลินมาก่อน แสดงว่าท่านมีอายุอานามไม่ใช่น้อย เพราะสถานที่เรียกว่ากำแพงเบอร์ลินนั้นเลือนหายไปจากความทรงจำชาวโลกนานนับกว่ายี่สิบปีแล้ว


กำแพงเบอร์ลิน (ภาษาเยอรมันเรียกว่า Berliner Mauer) อยู่ที่นครเบอร์ลินเมืองหลวงของประเทศเยอรมนีตามชื่อ เรื่องราวการกำเนิดกำแพงเบอร์ลินสืบเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเยอรมนีแพ้สงคราม ทำให้ประเทศถูกแบ่งเป็นสี่ส่วนอยู่ภายใต้อาณัติการปกครองของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่ชนะสงครามสี่ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต (ปัจจุบันกลายมาเป็นรัสเซีย) กรุงเบอร์ลินที่เป็นเมืองหลวงศูนย์กลางการเมืองการปกครองก็ถูกแบ่งเป็นสี่ส่วนแยกกันปกครองเช่นกัน ถึงแม้ว่าจริงๆแล้วกรุงเบอร์ลินจะอยู่ในเขตพึ้นที่ของสหภาพโซเวียตก็ตาม

ต่อมาประเทศสหภาพโซเวียตเกิดแตกคอทางความคิดทางการเมืองกับอีกสามประเทศ ซึ่งสหภาพโซเวียตต้องการให้เยอรมนีปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ในขณะอีกสามประเทศสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ทำให้เยอรมนีแยกออกเป็นสองประเทศก็คือเยอรมนีตะวันตกที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และเยอรมนีตะวันออกที่ปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ (สีน้ำเงินคือพื้นที่ของเยอรมนีตะวันตกและสีแดงเป็นเยอรมนีตะวันออก)


ภายหลังที่แตกออกเป็นสองประเทศ ปรากฏว่ามีประชากรฝั่งเยอรมนีตะวันออกลักลอบหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ฝั่งตะวันตกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่กรุงเบอร์ลิน ทำให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกแก้ปัญหาด้วยการกั้นพรมแดนด้วยรั้วลวดหนามในระยะแรกแต่ก็ยังไม่ได้ผล จนถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1961 ก็ตัดสินใจเริ่มสร้างกำแพงคอนกรีตล้อมรอบพื้นที่กรุงเบอร์ลินที่เป็นของเยอรมนีตะวันตก จึงถือกำเนิดเป็นกำแพงเบอร์ลินขึ้นมา


ถึงแม้มีกำแพงเบอร์ลินขึ้นมาแต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบอพยพไปอยู่ฝั่งตะวันตกได้ ซ้ำร้ายกลับไปก่อให้เกิดปัญหาการลักลอบหนีผ่านประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นแทน จนในที่สุดวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ผู้นำเยอรมนีตะวันออกในขณะนั้นก็ประกาศยกเลิกการควบคุมการข้ามผ่านพรมแดนระหว่างเยอรมนีตะวันตกและตะวันออก จึงถือว่าเป็นวันที่สิ้นสุดอำนาจแบ่งกั้นของกำแพงเบอร์ลินลง และหลังจากนั้นหนึ่งปีก็นำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนี

ไม่นานหลังจากวันที่ประกาศยกเลิกการควบคุมพรมแดน ก็มีผู้คนนำค้อนสิ่วไปทุบทำลายกำแพงเบอร์ลินให้พังลงเกือบหมด ปัจจุบันส่วนที่เหลือของกำแพงยาว 1.3 กิโลเมตรถูกใช้แสดงงานจิตรกรรมบนผนังกำแพง เรียกว่า East Side Gallery อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง

 

ภาพมีจำนวนทั้งสิ้น 105 ภาพ ถูกวาดลงบนกำแพงในปี 1990 เป็นผลงานของศิลปินจากทั่วโลก

 
 

ส่วนใหญ่จะเป็นการล้อเลียนหรือรำลึกเหตุการณ์กำแพงเบอร์ลินในอดีต

 
 

อดีตป้อมด่านซึ่งปัจจุบันเกษียณตัวมาเป็นร้านขายของที่ระลึก


ภาพทหารกระโดดข้ามลวดหนามเป็นหนึ่งในเหตุการณ์การหลบหนีไปสู่ฝั่งตะวันตกที่เกิดขึ้นจริง มีช่างภาพคนหนึ่งจับภาพโมเม้นท์ขณะนั้นได้พอดี จัดว่าเป็นหนึ่งในภาพคลาสสิกของประวัติศาสตร์กำแพงเบอร์ลินเลยทีเดียว

 

ซากคอนกรีตของกำแพงเบอร์ลินที่ถูกทุบทำลายลง บางส่วนถูกนำไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆทั่วโลก ในขณะที่บางส่วนก็มีพ่อค้าหัวใสนำไปทำเป็นของที่ระลึก เช่น แม็กเนท โปสการ์ด ฯลฯ จนทุกวันนี้ก็ยังหาซื้อเศษซากกำแพงเบอร์ลินได้ตามร้านขายของที่ระลึก


ถ้ามาที่เบอร์ลิน อาจจะสังเกตเห็นไฟสัญญาณคนข้ามถนนที่เป็นรูปคนสวมหมวก มีชื่อเรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Ampelmännchen เป็นรูปแบบไฟสัญญาณที่ใช้ในสมัยเยอรมนีตะวันออก ถึงแม้ปัจจุบันรวมประเทศแล้ว ก็ยังอนุรักษ์สัญญาณไฟดังกล่าวให้เป็นเอกลักษณ์ของกรุงเบอร์ลินต่อไป


มีพ่อค้าหัวใส(อีกแล้ว)นำสัญลักษณ์ไฟดังกล่าวมาทำเป็นของที่ระลึกขาย อาทิเช่น แก้วน้ำ เสื้อยืด โปสการ์ด ฯลฯ ปัจจุบันเปิดเป็นร้านทั่วกรุงเบอร์ลิน


การเดินทางไป East Side Gallery
สามารถนั่งรถไฟ S-Bahn สาย 5, 7 หรือ 75 ไปลงที่สถานี Ostbahnhof ได้ จากสถานีรถไฟเดินไปทางแม่น้ำ Spree ไม่นานก็ถึง

เว็บไซด์ของ East Side Gallery (ภาษาเยอรมัน)
http://www.eastsidegallery-berlin.de/

เว็บไซด์ร้านขายของที่ระลึก Ampelmännchen
http://ampelmannshop.com/AMPELMANN-Berlin

 



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

About