วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Postcard from Alaska: Icy Strait Point ส่องวาฬและจิตวิญญาณ Tlingit

 
 

Mâ sá iyatì ... ประเดิมด้วยคำทักทายภาษาชาวเผ่า Tlingit

วันที่ 3 มิถุนายน วันที่สองหลังจากก้าวเข้าสู่เขตอะลาสก้า เรือสำราญ Radiance of the Sea มีคิวจอดแวะที่ Icy Strait Point ตั้งแต่เวลาเก้าโมงเช้าจนถึงหกโมงเย็น จริงๆแล้ว Icy Strait Point ไม่ใช่ชื่อเมือง แต่เป็นชื่อย่านน้ำในบริเวณเมือง Hoonah


การจอดเรือสำราญเพื่อแวะเที่ยวตามเมืองต่างๆมีสองวิธี แบบแรกก็คือจอดเทียบกับท่าเรือ ผู้โดยสารสามารถเดินลงจากเรือขึ้นไปที่ท่าได้เลย ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า dock ส่วนอีกแบบจะใช้ศัพท์ว่า tender จะเป็นการจอดเรือสำราญกลางทะเลห่างจากฝั่งระยะหนึ่งแล้วใช้เรือเล็กลำเลียงผู้โดยสารมาขึ้นฝั่งต่ออีกที วิธีหลังจะใช้กรณีเมืองที่แวะไม่มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ไว้รองรับเรือสำราญ ซึ่ง Icy Strait Point เป็นที่หมายเดียวในเส้นทางล่องอะลาสก้านี้ที่ใช้วิธีจอดเรือแบบ tender



Hoonah เป็นเมืองขนาดเล็กมีประชากรไม่ถึงพันคน ส่วนใหญ่เป็นชาว Tlingit ซึ่งเป็นชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองที่อาศัยในแถบชายฝั่งทะเลแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ


อาคารสีแดงโดดเด่นของเมือง เรียกว่า Fish House ประกอบไปด้วยศูนย์รวมทัวร์ พิพิธภัณฑ์ปลาซัลม่อน และร้านค้า





ตอนขึ้นจากเรือลำเลียงมา นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับแจกแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆแผ่นหนึ่ง ตอนแรกนึกว่าเป็นที่ระลึกแต่จริงๆแล้วมีเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าแผ่นไม้นี้ที่จะเล่าให้ฟังในภายหลัง


ทัวร์ยอดนิยมอันดับหนึ่งของ Icy Strait Point ก็คือล่องเรือชมวาฬ (Whale & marine mammals cruise) ซึ่งที่นี่มีประชากรวาฬหนาแน่นมากจนทัวร์กล้ารับประกันว่าถ้าไม่เห็นวาฬซักตัวยินดีคืนเงินให้


การล่องชมวาฬจะใช้เรือขนาดเล็ก


วาฬที่พบเห็นที่นี่คือสายพันธ์วาฬหลังค่อม (hump-back whale)


นับว่าสมราคาคุยจริงๆ ตลอดการล่องเรือจะพบเห็นวาฬเป็นระยะๆ นับรวมๆได้น่าจะมากกว่าสิบตัว ส่วนใหญ่จะเห็นไกลๆ เพราะถ้าเข้าใกล้กันเกินไปอาจจะเป็นอันตรายทั้งกับตัววาฬและเรือ



แต่อย่าเพ้อฝันว่าจะเห็นวาฬจู่ๆดีดตัวกระโดดขึ้นมาเหนือน้ำแบบที่เคยเห็นตามโฆษณา อยู่ดีๆวาฬคงไม่โดดโชว์กันง่ายๆแน่ โอกาสส่วนมากก็จะเห็นแค่ส่วนหลังหรือหางที่โผล่มาจ๊ะเอ๋เหนือน้ำเท่านั้น


หลังจากที่เฝ้าติดตามพฤติกรรมวาฬซักระยะ ผมก็จับทางได้ว่าวาฬจะโผล่มาให้เห็นเป็นสามสเต็ป สเต็ปแรกมันจะโผล่หลังขึ้นมาดูลาดเลาแล้วก็ดำลงไป


จังหวะสองก็จะโผล่หลังขึ้นมาเหนือน้ำเพื่อพ่นน้ำแล้วก็ดำลงไปอีกรอบ


รอบสุดท้ายจะโผล่มาโชว์การม้วนหาง หลังจากนั้นก็จะไม่โผล่อีกแล้ว ไปส่องหาเป้าหมายวาฬตัวใหม่ได้เลย

 

ภาพหางวาฬชูเหนือน้ำนี้ถูกใช้เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์การท่องเที่ยวดินแดนอะลาสก้า


หลังจากการล่องเรือชมวาฬซึ่งกินเวลาประมาณสองชั่วโมงครึ่งเสร็จสิ้นลง ก็กลับมาที่ท่าเรือ ผมวางอีกโปรแกรมไว้ในช่วงบ่าย จึงพอมีเวลาเดินสำรวจหมู่บ้านแบบคร่าวๆ


ระหว่างเส้นทางสำรวจก็เดินมาเจอชุมนุมรอบกองไฟ พออ่านป้ายดูจึงรู้ว่าเขาให้เอาแผ่นไม้ที่ได้รับแจกมาโยนเข้าไปในกองไฟตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาว Tlingit


นอกจากกิจกรรมล่องชมวาฬแล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่ขึ้นชื่อที่นี่ก็คือการโรยตัวเหาะมาตามรอก เรียกว่า ZipRider (แต่ผมขอบาย เนื่องจากไม่ถูกชะตากับความเสียว)


กิจกรรมช่วงบ่ายที่ผมเลือกก็คือการนั่งรถรางชมไพรและการแสดงเต้นพื้นเมืองของชนเผ่า (Forest tram & Tribal dance combination)


เริ่มจากรถรางชมป่า รถรางจะวิ่งฝ่าป่าโปร่งไปชายฝั่งอีกฝากของเมือง ทัศนียภาพที่ไม่ได้สวยเด่นอะไรนัก ประกอบกับมีฝนตกพรำๆตลอดทาง ก็เลยไม่มีอะไรน่าประทับใจเป็นพิเศษ เบ็ดเสร็จฆ่าเวลาไปชั่วโมงครึ่ง



รถรางวนกลับมาที่เดิม จากนั้นก็ฝ่าสายฝนเข้ามาในโรงมหรสพเพื่อชมการแสดงของชาว Tlingit


ชาว Tlingit จะถูกแบ่งแยกออกเป็นสองวงศ์ได้แก่วงศ์ Eagle กับ Raven ในแต่ละวงศ์จึงแบ่งย่อยเป็นตระกูลต่างๆเช่น หมี หมาป่า ฉลาม วาฬ เป็นต้น

จุดเด่นในเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของชาว Tlingit ก็คือผ้าห่มคลุมกายที่ว่ากันว่าจะถูกส่งต่อให้ดูแลรักษาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นสัญลักษณ์ความไว้วางใจ


การแสดงจะผสมผสานการร้องและเต้นบอกเล่านิทานปรัมปราของชาวพื้นเมืองเรื่อง Raven steals the sun ระหว่างการแสดงไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ให้ถ่ายได้ตอนแสดงจบแล้วเท่านั้น (ที่ยืนแถวหลังเป็นคนดูที่ขึ้นไปร่วมแสดง)


ถึงแม้การเต้นการร้องจะเฉียดๆระดับงานโรงเรียนมัธยมก็ตาม สิ่งที่ชวนให้แอบขนลุกเบาๆก็คือจิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมของผู้แสดงที่ตั้งใจสื่อสารให้ชาวโลกรู้จักชาว Tlingit

ชาว Tlingit จะไม่กล่าวคำว่าลาก่อนแต่จะพูดว่าแล้วพบกันใหม่แทน

แล้วพบกันใหม่ ..... Tsu yé ikhwasatîn



เว็บไซด์ของ Icy Strait Point







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

About