วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Kanamara Matsuri: เทศกาลแห่กาปู๋เหล็ก [18+]

คำเตือน: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประเพณี แต่อาจมีเนื้อหาและรูปภาพบางส่วนเกี่ยวพันเรื่องทางเพศที่อาจไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชน โปรดใช้วิจารณญาณ

เป็นครั้งแรกที่เขียนบทความล่อแหลม ผมขอย้ำว่าต้องการนำเสนอแง่มุมทางด้านวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองเป็นหลักนะครับ ถึงแม้เนื้อหาอาจจะออกทะลึ่งนิดๆแต่ผมจะพยายามไม่ให้เลยเถิดจนเกินงาม (เรียกว่าทะลึ่งวันละนิดจิตแจ่มใส)

รูปภาพที่ถ่ายติดบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและอาจทำให้เสื่อมเสียผมขอเบลอหน้า ส่วนรูปที่ไม่เบลอได้พิจารณาแล้วว่าเจ้าตัวแสดงความยินยอมให้ถ่าย

เทศกาล Kanamara Matsuri (かなまら祭り) หรือที่ผมอุปโลกน์ชื่อภาษาไทยให้ว่าเทศกาลแห่กาปู๋เหล็ก เป็นเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นที่เมืองคาวาซากิ (川崎市) ประเทศญี่ปุ่น เทศกาลจะมีขึ้นในวันอาทิตย์แรกของเดือนเมษายน อย่างปี 2013 ที่ผมไปตรงกับวันที่ 7 เมษายน


แท้จริงแล้วเทศกาล Kanamara เป็นเทศกาลของศาสนาชินโต ในทางศาสนาอวัยวะเพศชายเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ จึงสามารถพบเห็นเทศกาลแบบเดียวกันนี้ที่วัดชินโตหลายๆที่ในญี่ปุ่น สำหรับที่เมืองคาวาซากิ เทศกาลจัดขึ้นที่วัดคานายามะ (金山神社) ซึ่งว่ากันว่าในอดีตเป็นวัดที่โสเภณีพื้นเมืองนิยมมาบนบานขอให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศ นอกจากนี้วัดก็ยังมีชื่อเสียงเรื่องการบนบานขอให้คลอดบุตรง่ายปลอดภัยและชีวิตสมรสที่ราบรื่น เทศกาลที่นี่จึงมีนัยเรื่องทางเพศผสมด้วย (ในบางแหล่งข้อมูลจะเรียกวัดที่จัดงานนี้ว่า Wakamiya Hachimangu Kanayama shrine)


วัดคานายามะเป็นที่สถิตย์ของแท่งลึงค์เหล็กยักษ์ที่เป็นพระเอกของงาน มีตำนานปรัมปราพื้นบ้านเล่าขานกันว่าในอดีตมีหญิงสาวผู้อาภัพนางหนึ่งถูกปีศาจฟันเหล็กสิงที่อวัยวะเพศและคอยกัดน้องหนูของเจ้าบ่าวผู้โชคร้ายในคืนร่วมหอคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งมีช่างตีเหล็กนายหนึ่งหล่อแท่งลึงค์เหล็กขึ้นมาทำให้ปีศาจที่กัดฟันหักหมดปากจนหนีออกจากร่างไป ชีวิตหญิงสาวจึงสงบสุขนับจากนั้นมา ก็เลยเป็นที่มาของการสักการะบูชาเจ้าปลัดขิกเหล็กนี่เอง

แต่เดิมเทศกาลนี้เป็นเพียงเทศกาลพื้นเมืองเล็กๆ แต่ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้มีรายการโทรทัศน์ต่างชาติมาถ่ายทำไปเผยแพร่ที่ต่างประเทศและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนปัจจุบันนี้แทบจะกลายเป็นเทศกาลนานาชาติที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากหลั่งไหลมาร่วมงาน


วัดคานายามะเป็นวัดขนาดเล็ก ในวันเทศกาลจึงแออัดยัดเยียดเป็นพิเศษ


คุณลุงคนนี้รู้สึกจะเป็นมาสค็อตประจำงานแต่งชุดนี้มาทุกปี


มีหลายคนมาด้วยคอสเพลย์เพี้ยนๆ (ปีก่อนๆมีชุดที่ดูอนาจารเกินงาม แต่ปีนี้น่าจะมีการห้ามปรามกันไว้ก่อน)


ภายในบริเวณวัดก็จะมีเพิงขายของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล


สินค้าขายดีอันดับหนึ่งคงหนีไม่พ้น อม...ยิ้ม ที่คนมาร่วมงานถือดูดไปทั่วงาน มีทั้งเวอร์ชั่นบุรุษและสตรี


นกหวีดไอเดียเก๋ จบงานเห็นขายจนหมด แต่ไม่ยักเห็นคนหยิบมาลองเป่า


แว่นตา ลุงคนขายใส่ให้ดูเป็นแบบ


มีสอนแกะสลักผักผลไม้ให้เป็นปลัดขิก


ในวัดมีอนุเสาวลึงค์มากมายให้โพสท่าถ่ายรูป


วันเทศกาลวัดจะจัดให้มีลานขี่จรวดที่เป็นจุดดึงดูดตากล้องมาชุมนุมรอถ่ายรูปหนุ่มสาวที่มาชักภาพร่วมกับเจ้าดุ้นไม้ยักษ์


ป้ายขอพรอันที่เป็นรูปเด็กเดาได้ว่าน่าจะขอให้คลอดลูกง่ายและปลอดภัย แต่ไอ้อันที่เป็นการ์ตูนตาหวานนี่ไม่รู้ขออะไร


ปกติภาพปริศนาธรรมลิงสามตัวจะปิดสามทวาร แต่วัดนี้แถมให้อีกสองทวาร


ขบวนแห่จะประกอบไปด้วยเกี้ยวสามหลัง แต่ละหลังจะบรรทุกแท่งปลัดขิกสีและขนาดต่างๆกัน


อันใหญ่ที่สุดเป็นสีชมพู อันขนาดกลางเป็นสีดำ ส่วนอันขนาดเล็กกว่าทำจากไม้


ขบวนแห่เริ่มตอนเที่ยงวันจะมีคนแบกเกี้ยวทั้งสามหลังออกจากวัดแห่ไปตามท้องถนน ผู้จัดอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถร่วมแบกเกี้ยวหรือร่วมขบวนแห่ได้ แต่จะต้องแต่งกายในชุดญี่ปุ่น


ขบวนแห่ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษๆก่อนจะวนกลับมาที่วัด


หลังจบส่วนพิธีการ ที่วัดมีเวทีคอนเสิร์ทย่อมๆและร้านเมรัยให้นักท่องเที่ยวเปิดปาร์ตี้กันต่อ

การเดินทางไปร่วมเทศกาลจากโตเกียว
จากสถานี Shinagawa ในโตเกียวจับรถไฟสาย Keikyu Main line เปลี่ยนรถไฟเป็นสาย Keikyu Daishi line ทีสถานี Keikyu Kawasaki ลงที่สถานี Kawasaki Daishi รวมเบ็ดเสร็จใช้เวลาประมาณ 15 นาที

วัดคานายามะอยู่ใกล้กับสถานี Kawasaki Daishi เดินประมาณ 1-2 นาที ในวันเทศกาลเดินตามฝูงชนไม่หลงแน่นอน


เว็บไซด์การท่องเที่ยวเมืองคาวาซากิ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

About