หลายคนอาจจะนึกว่าซีรี่ย์ล่องอะลาสก้าของผมจบบริบูรณ์ไปแล้ว แต่...ยังครับ ถึงแม้จะขึ้นจากเรือสำราญแล้วแต่ภารกิจท่องเที่ยวอะลาสก้าของผมยังไม่จบ ไปตั้ง 10 วันจบง่ายๆก็กระไรอยู่
เรือ
Radiance of the Sea จอดเทียบท่าที่หมายสุดท้ายที่เมือง
Seward (ออกเสียงว่า
“ซูเอิร์ด” ไม่ใช่ “ซีวอร์ด” นะ) ตั้งแต่เช้าตรู่ ชาวเรือสำราญก็ทยอยกันลงจากเรือตามแผนที่กัปตันเรือวางไว้
บางคนตรงดิ่งไปที่เมือง Anchorage
ที่อยู่ไม่ไกลเพื่อจับเครื่องบินกลับบ้านทันที
บางคนก็อยู่เที่ยวโต๋เต๋ต่อ ผมจัดเป็นพวกกลุ่มหลัง
มาทั้งทีต้องเที่ยวอะลาสก้าให้คุ้ม
เรือสำราญได้จัดโปรแกรมแลนด์ทัวร์ที่
Seward ไว้ให้เลือกด้วย
โปรแกรมยอดนิยมสองอันดับแรกได้แก่ล่องเรือชมธรรมชาติและธารน้ำแข็งที่ Kenai Fjords กับล่องเรือชมธารน้ำแข็งที่
Prince William Sound
เท่าที่ดูเหมือนคนส่วนใหญ่จะเลือกไป Kenai Fjords ผมเลยตัดสินใจเป็นคนส่วนน้อยไป
Prince William Sound แทน
โปรแกรมท่องเที่ยว
Prince William Sound
Glacier ต้องนั่งรถบัสไปขึ้นเรืออีกที่หนึ่ง ไม่ได้ขึ้นที่ท่าเทียบเรือสำราญที่
Seward
ถึงแม้ไม่ใช่โปรแกรมอันดับหนึ่งแต่คนเลือกทัวร์นี้ก็ไม่ใช่น้อย ใช้เวลานั่งรถพอสมควร
แต่ก็มีธรรมชาติสองข้างทางให้เพลิดเพลินจำเริญใจ
รถบัสมาถึงที่ท่าเรือก่อนเที่ยง
เรือที่ใช้ล่องเป็นเรือขนาดย่อมกว่าเรือสำราญ
ทัวร์นี้จะเสิร์ฟอาหารกลางวันบนเรือด้วย
ที่นั่งในร่มจึงมีลักษณะเป็นโต๊ะอาหาร
ช่วงต้นๆของเส้นทางล่องเรือก็ยังผ่านป่าเขาเขียวขจี
ภูเขาในบริเวณนี้ไม่ค่อยมีหิมะปกคลุมแล้ว หิมะหรือน้ำแข็งที่ละลายทำให้เกิดสายน้ำตกไหลลงมาตามหน้าผา
แต่พอล่องลึกเข้าไปเรื่อยๆก็จะกลายเป็นภาพภูเขาที่มีหิมะปกคลุมหนาๆ
สังเกตเห็นกลางทะเลมีจุดเล็กๆดำๆลอยอยู่
ที่แท้เป็นนากทะเล (Sea
Otto) นอนตีกรรเชียงลอยเป็นแพ
การเดินทางเข้าสู่อะลาสก้าเมื่อห้าหกวันที่ผ่านมาเผชิญกับสภาพอากาศขมุกขมัวมีฝนประปราย
แต่วันที่ Prince William
Sound นี้อากาศเป็นใจมาก ฟ้าแจ้งจางปางแดดสดใส
ทำให้ได้ภาพวิวสวยๆตลอดการล่องเรือ
จริงๆแล้ว
Prince William Sound
Glacier น่าจะเรียกว่าดงธารน้ำแข็งถึงจะถูก
เพราะเรือแล่นผ่านธารน้ำแข็งขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อย
สิ่งที่ทำให้วิวทัศนียภาพตระการตาเป็นพิเศษก็คือตัวธารน้ำแข็งไหลพาดผ่านเป็นทางยาวมาตามไหล่เขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ
สุดท้ายเรือมาจอดให้ชมธารน้ำแข็งแบบใกล้ๆที่หนึ่ง
ไม่รู้ว่าชื่อจริงๆของธารน้ำแข็งจุดนี้เรียกว่าอะไร
เพราะมัวเพลินชมธรรมชาติจนไม่ได้ฟังบรรยาย
เนื่องจากเป็นเรือที่มีขนาดเล็กกว่าจึงเข้าไปใกล้ธารน้ำแข็งได้มากกว่าวันที่ไป
Hubbard Glacier แต่ก็ไม่ใกล้ขนาดเอามือไปจับลูบไล้เล่นได้หรอกนะ
ดูจากภาพอาจจะนึกว่าไม่ใหญ่
ลองเอาเรือหนึ่งลำไปเทียบดู เรือดูเล็กไปถนัดตา
ขณะที่จอดเท้งเต้งให้ถ่ายรูปธารน้ำแข็ง
ก็เกิดน้ำแข็งทรุดถล่ม (ice
calving) หรือที่ชนพื้นเมืองอะลาสก้าเรียกว่า white thunder เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงเรียกอย่างนั้น
ช่วงที่น้ำแข็งปริแตกและถล่มลงน้ำจะส่งเสียงเหมือนฟ้าร้องคำราม
เศษซากน้ำแข็งที่ถล่มลงมาก็จะลอยเท้งเต้งตามผิวน้ำ
เรือจอดให้นักท่องเที่ยวชักภาพตามอัธยาศัยพักหนึ่งก่อนหันหัวเรือกลับ
รวมๆแล้วใช้เวลาในการล่องเรือประมาณ
5.5 ชั่วโมง
ทัวร์จบลงที่พานักท่องเที่ยวไปส่งที่สนามบิน
Anchorage ในตอนเย็น
ถ้าคนจะไปทัวร์นี้และบินกลับทันทีควรจองไฟล์ทที่ take off หลังสี่ทุ่ม
สำหรับผมจับแท็กซี่เข้าไปที่ตัวเมืองเพื่อค้างที่ Anchorage ต่ออีกสองคืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น