คราวที่แล้วได้แนะนำเทศกาลฤดูร้อนที่ยิ่งใหญ่แห่งโทโฮะคุงานแรก
นั่นคือ Aomori Nebuta
Matsuri ไปแล้ว มาถึงเทศกาลฤดูร้อนแห่งโทโฮะคุงานที่สองซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอะคิตะ
(秋田) ระหว่างวันที่ 3-6 สิงหาคมของทุกปี
มีชื่อว่า Akita
Kanto Matsuri (秋田の竿灯) หรือเทศกาลเลี้ยงโคมลำไผ่
เจ้าโคมลำไผ่หรือ Kanto นี้เป็นลำไผ่ที่ยาวห้าถึงสิบสองเมตร
ด้านบนของลำไผ่จะแขวนไปด้วยแผงโคมไฟกระดาษจำนวน 24 หรือ
46 ดวง (ขึ้นอยู่กับความยาวลำไผ่) มีน้ำหนักมากสุดถึง 50
กิโลกรัม
วิธีการเล่นกับเจ้าโคมลำไผ่ไม่ใช่ให้ถือโคมเฉยๆ
แต่ต้องใช้อวัยวะร่างกายเลี้ยงเจ้าลำไผ่หนักๆนี้ให้ไม่หล่น ซึ่งความน่าตื่นตาตื่นใจของเทศกาลนี้ก็คือการโชว์เลี้ยงโคมลำไผ่นี่เอง
ที่ลานพลาซ่าใกล้ๆสถานีรถไฟอะคิตะจะมี Kanto
ให้นักท่องเที่ยวลองถือถ่ายรูป
ที่ลานบริเวณนี้ช่วงกลางวันระหว่างวันเทศกาล
จะมีการสาธิตการเลี้ยงโคมลำไผ่ให้ดู (แต่ผมมาถึงช้าไปเค้าเลิกสาธิตไปแล้ว)
นอกจากเทศกาล
Kanto แล้วที่เมืองอะคิตะยังมีเทศกาลประจำเมืองที่มีชื่อเสียงอีกเทศกาลหนึ่งชื่อว่า
Akita Namahage Matsuri
แต่จัดในช่วงหน้าหนาวกลางเดือนมกราคม
ซึ่งจะมีคนแต่งกายเป็นปีศาจชุดฟางข้าวแวะเวียนไปตามบ้านเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและนำความสุขมาให้ในปีใหม่
การโชว์เลี้ยงลำไผ่จะเริ่มในเวลาหนึ่งทุ่ม
ที่ถนน Chuo-dori
เดินจากสถานีรถไฟอะคิตะไปราวๆ 20 นาที
มีที่นั่งวีไอพีแบบขายตั๋วด้วย
ถ้าใครไม่อยากเสียตังค์ก็นั่งริมฟุตบาทสองข้างทาง
มีพ่อค้าหัวใสทำกล่องกระดาษที่สามารถพับแล้วใช้นั่งเป็นเก้าอี้ได้มาขาย
งานเลิกแล้วเก็บกลับไปเป็นของที่ระลึกได้อีก
ชุดประจำเทศกาลดูคล้ายๆพ่อครัวญี่ปุ่นร้านปลาดิบ
งานนี้ไม่ว่าเด็กสตรีหรือคนชราก็มีส่วนร่วม
งานเริ่มออกแขกด้วยการโชว์เต้นรำของเหล่าผู้อาวุโส
จากนั้นขบวนโคมลำไผ่จึงเดินออกมาประจำที่
พอได้เวลาก็ยกโคมตั้งขึ้นไป ช่วงโชว์การเลี้ยงลำไผ่ขบวนโคมจะอยู่กับที่ไม่ต้องเดินพาเหรด
เพราะแค่ยืนเลี้ยงอยู่กับที่คนเลี้ยงก็แทบรากเลือดแล้ว
เนื่องจากผู้ชายงานหนักกับการเลี้ยงโคมลำไผ่
สาวๆจึงรับหน้าที่เป็นมโหฬีไม่เว้นแม้แต่ตีกลองใหญ่
การเลี้ยงโคมลำไผ่มีทั้งหมดห้าท่าได้แก่
ถือแบบพลิกหงายข้อมือ
(เนื่องจากภาพค่อนข้างมืดและถ่ายติดหลายคนในเฟรม
ให้สังเกตคนที่อยู่ในวงกลมสีแดง)
เลี้ยงบนฝ่ามือ
เลี้ยงบนหน้าผาก
เลี้ยงบนไหล่
และเลี้ยงบนก้นกบ (แอดวานซ์สุดๆ)
โชว์มีทั้งรุ่นจูเนียร์และรุ่นใหญ่ แต่ถ้าเป็นเด็กก็จะใช้โคมลำไผ่อันเล็กหน่อยเล่นแค่ท่าเบสิคๆ
อาจสงสัยว่าจะเป็นอันตรายกับคนดูสองข้างทางหรือไม่ถ้าโคมที่เลี้ยงเกิดล้มใส่
เค้าคิดมาอย่างดีแล้ว ถนนที่จัดงานจะมีต้นไม้ใหญ่อยู่ตลอดแนว ช่วงเทศกาลเขาจะเอาเชือกขึงระหว่างส่วนบนของต้นไม้แต่ละต้น
ถ้าจังหวะที่คนเลี้ยงควบคุมโคมไม่อยู่เอนไปทางคนดู
เค้าจะปล่อยให้ลำไผ่พาดเชือกรับแรงและช่วยกันยกกลับไม่หล่นทับใส่คนดูแน่นนอน
(ถ้าเชือกไม่ขาด)
และถ้าเกิดฝนตกก็เอาถุงพลาสติกคลุมโคมไว้แค่นั้นเอง
งานนี้ผมอยู่ได้แป๊บเดียวเพราะต้องรีบกลับไปจับรถไฟเที่ยวสุดท้ายกลับเมืองที่พัก
เว็บไซด์ภาษาอังกฤษของเทศกาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น