สำนวนจีนมีคำกล่าวว่า “ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่มีวันเลิกรา”
ผมหยิบยืมมาใช้เกริ่นแบบซึ้งๆเพื่อปิดฉากเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวอะลาสก้าของผม
หลังจากเขียนเล่ามายาวนานเป็นปีก็มาถึงบันทึกหน้าสุดท้ายแล้ว
วันสุดท้ายบนดินแดนอะลาสก้าของผมอยู่ที่เมือง
Anchorage ตามกำหนดการผมจะบินออกจากเมืองด้วยไฟล์ทค่ำ
ถึงแม้มีเวลาค่อนวันแต่เพื่อความเซฟก็ไม่ควรไปทัวร์เต็มวัน แต่โปรแกรมทัวร์ครึ่งวันที่มีก็ไม่น่าสนใจเท่าไหร่
ผมเลยตัดสินใจใช้เวลาสำรวจเมือง Anchorage
ด้วยตนเองแทน โดยพึ่งพาคัมภีร์นักเดินทางผู้โดดเดี่ยวอย่าง
Lonely Planet
ตอนที่เปิดดูหนังสือ
Lonely Planet เพื่อหาข้อมูลเส้นทางเดินสำรวจเมือง
ผมเกิดไปสะดุดใจกับคำว่า Anchorage
Light Speed Planet Walk ซึ่งจั่วหัวยั่วน้ำลายไว้ว่าเป็นการเดินชมเมือง
Anchorage ณ
ความเร็วแสง อะไรที่แปลกๆอย่างนี้มีหรือที่จะพลาด ผมเลยตัดสินใจตามแผนเส้นทาง Planet Walk นี้
จริงๆแล้วก็เป็นเส้นทางเดินชมเมืองแบบชิลๆ
แต่แทนที่จะเดินดุ่ยๆ ชาวเมือง Anchorage
ก็ช่างคิดทำเป็นสถานีตลอดเส้นทาง แต่ละสถานีก็คือดาวเคราะห์ต่างๆในระบบสุริยะจักรวาลซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่สถานีดวงอาทิตย์และสิ้นสุดสถานีสุดท้ายที่พลูโต
(ตอนที่คิดไอเดียนี้พลูโตน่าจะยังไม่ถูกถอดออกจากตำแหน่งดาวเคราะห์) โดยเปรียบการเดินตามเส้นทางเสมือนการเดินทางของแสงจากดวงอาทิตย์ไปสู่ดาวเคราะห์ต่างๆ
แต่ละสถานีก็จะมีข้อมูลของดาวเคราะห์แต่ละดวงไว้ด้วย
เรียกว่าเดินออกกำลังกายแถมยังได้ความรู้ดาราศาสตร์ไปในตัว
การเดินเท้าจากสถานีแรกดวงอาทิตย์ไปถึงสถานีสุดท้ายพลูโตใช้เวลาประมาณ
5 ชั่วโมงครึ่ง
ซึ่งเท่ากับเวลาที่แสงใช้เดินทางจากดวงอาทิตย์ไปถึงดาวพลูโตจริงๆ
นอกจากนี้การเดินเท้าไปแต่ละสถานีดาวเคราะห์ก็ใช้เวลาเทียบเคียงกับการเดินทางของแสงจากดวงอาทิตย์ไปยังดาวเคราะห์นั้นๆ
จึงเป็นที่มาของคำโปรยว่าเดินทางด้วยความเร็วแสง
เนื่องด้วยไม่แน่ใจว่าที่สถานีพลูโตจะจับรถกลับมาใจกลางเมืองได้ง่ายรึเปล่า
ถ้าให้เดินย้อนกลับจะใช้เวลารวมมากกว่า 10 ชั่วโมงก็โหดกระไรอยู่
เลยตัดสินใจว่าจะเดินไปแค่สถานีดาวเสาร์ซึ่งใช้เวลาแค่ชั่วโมงครึ่งก็พอ
สถานีตั้งต้นคือสถานีดวงอาทิตย์อยู่ที่แยกถนนหมายเลข
5 ตัดกับถนนสาย
G ใจกลางเมือง
Anchorage จะตัดถนนเป็นบล็อคๆ
แล้วใช้ตัวเลขกับตัวอักษรภาษาอังกฤษตั้งเป็นชื่อถนนแนวนอนกับแนวตั้งตามลำดับ
ที่หัวมุมถนนจะมีรูปจำลองดวงอาทิตย์ผ่าซีก
ถัดไปเป็นสถานีดาวพุธ
จริงๆแล้วตัวสถานีอยู่ฝั่งทะแยงมุมสี่แยกดวงอาทิตย์
แต่ตอนเดินต้องข้ามถนนสองทอด ปรากฏว่าผมใช้เวลาไป 2.52 นาที เทียบกับแสงใช้เวลา 3 นาที (แสดงว่าคนวางแผนเส้นทางมีเผื่อเวลาไฟเขียวไฟแดงข้ามถนนไว้ด้วย)
จากนั้นก็เดินลงมาตามถนนหมายเลข
5 มาที่สถานีดาวศุกร์ (ผมใช้เวลา
4.52 นาที
ส่วนแสงใช้ 6 นาที)
กลับมาเยือนโลกของเรา
(ผม 6.53 นาที
vs แสง
8 นาที)
เส้นทางช่วงแรกจะอยู่ในย่านใจกลางเมือง
แต่หลังจากสถานีโลกแล้ว เส้นทางเดินจะเริ่มเลียบทะเล
สถานีดาวอังคารเป็นสวนหย่อมชื่อว่า
Elderberry Park มีรางรถไฟวิ่งผ่านกลาง
(ผม 9.44 นาที
vs แสง
13 นาที
นำขาดเห็นๆ)
บางจุดก็มีวิวสวยๆให้แวะดื่มด่ำได้
บางคนที่มาตามเส้นทาง Planet
Walk ใช้วิธีขี่จักรยาน
ซึ่งก็เปรียบเหมือนการวาร์ปในอวกาศ (เดินทางเร็วกว่าแสง)
มาถึงสถานีดาวพฤหัส
ดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล ผมทำเวลาดีกว่าแสงเห็นๆ
(ทิ้งห่างแสงไปถึงสิบนาที)
สถานีดาวพฤหัสอยู่ที่บริเวณ
Westchester Lagoon ซึ่งเป็นทะเลสาบย่อมๆใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้
จากสถานีดาวพฤหัสใช้เวลาอีกเกือบครึ่งชั่วโมงก็มาถึงสถานีดาวเสาร์
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลที่ผมชอบที่สุด สถานีดาวเสาร์อยู่ที่ Lyn Ary Park เท่าที่สังเกตุดูน่าจะเป็นศูนย์นันทนาการเล็กๆ
เป็นอันว่าจบเกมส์ผมใช้เวลาไปทั้งหมด
58 นาที
ชนะแสงที่ใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง
20 นาที
ได้ถูกจารึกไว้ว่าเป็นชายที่เดินทางไวกว่าแสง (ฮ่าฮ่าฮ่า...ไม่อยากคุย) แต่จริงๆแล้วผมแอบโกงนิดหน่อย
พอเมื่อยเหนื่อยผมก็แวะนั่งพักหยุดเวลาไว้ (อย่าไปบอกแสงนะครับ)
หลังจากนั้นก็เดินดุ่ยๆกลับมาย่านใจกลางเมือง
เป็นอันว่าฆ่าเวลาไปได้ครึ่งวัน เวลาที่พอเหลืออยู่ในช่วงบ่ายผมตัดสินใจไปเดินที่ weekend flea market อยู่ที่แยกตัดระหว่างถนนหมายเลข
3 กับถนน
E
ตลาดนี่จะเปิดเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น
ร้านส่วนใหญ่จะขายสินค้าท้องถิ่นอะลาสก้า
อาทิเช่น
เครื่องประดับทำจากกระดูกเขาสัตว์ประจำถิ่น ในร้านที่ขายจะติดป้ายเตือนว่าสินค้าประเภทนี้นำออกจากอะลาสก้าได้แต่อาจนำเข้าบางรัฐหรือบางประเทศไม่ได้
ผมเลยไม่ซื้อดีกว่า
หมวกกันแมลง
เค้าว่ากันว่าในหน้าร้อนที่นี่ยุงชุม
ภาพถ่ายแสงเหนือ เนื่องจากอะลาสก้าอยู่ใกล้ขั้วโลกเหนือ
จึงเป็นอีกจุดที่สามารถชมปรากฏการณ์แสงเหนือได้ดี
แว่นกันแดดเอสกิโม
(ไม่รู้ว่าใช้ยังไง)
เดินๆในตลาดเจอรถขายอาหารไทย
แวะเข้าไปซื้อจึงรู้ว่าเป็นร้านของคนไทย ก็เลยอุดหนุนผัดไทยกับชาเย็น
เว็บไซด์ของ
Anchorage Light Speed
Planet Walk